ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อนุสาวรีย์พระนเรศวรฯ ลงเอยที่หนองกระทิง


ภาพจำลองการสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรฯ ณ เกาะลอย สวนสาธารณะหนองกระทิง
ที่มาภาพ :
http://www.lampang.go.th/publish51/nars/pns2/main.htm

ผังบริเวณสวนสาธารณะหนองกระทิง
ที่มาภาพ :
http://www.lampang.go.th/publish51/nars/pns2/page10.htm


ผังเกาะลอย สวนสาธารณะหนองกระทิง
ที่มาภาพ :
http://www.lampang.go.th/publish51/nars/pns2/page14.htm


เป็นเวลานับทศวรรษ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระนเรศวรฯ จะได้ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ยังมีปัญหาโดยเฉพาะในประเด็นสถานที่ก่อสร้าง ล่าสุดจังหวัดลำปางร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ทำการสำรวจความคิดเห็นเพื่อหยั่งเสียงชาวลำปางในการสร้างขึ้น และสุดท้ายได้ข้อสรุปที่ สวนสาธารณะหนองกระทิง บริเวณเกาะลอยเดิม ซึ่งในการนี้ อบจ.ลำปาง จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตั้งแต่งบประมาณและการดูแลรักษา

ความเป็นมา
สืบเนื่องมาจากในปีพ.ศ. 2535 กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนชาวลำปาง มีแนวคิดที่จะดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น โดยเริ่มต้นมาจากการได้รับบริจาคที่ดินจำนวน 35 ไร่ ณ บ้านเหล่า ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อกำหนดให้เป็น สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จากนั้นจึงได้ระดมทุนเพื่อการจัดสร้างรูปหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวร มหาราช และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบในเบื้องต้นได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท และจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สมทบทุนรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 12 ล้านบาท จนกระทั่งรูปหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ใกล้จะสำเร็จเสร็จสิ้นเหลือเพียงขัดตะเข็บรอยต่อและประดับอาวุธ

ต่อมาในปี 2550 พลเอกวัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ติดตามประเด็นความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว โดยจัดประชุมคณะทำงาน ขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เลือกสถานที่ 2 แห่ง คือไร่รัศมีโรจน์ ตำบลบ้านเหล่า และสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเกาะคา และให้ปรับคณะกรรมการเป็นปัจจุบัน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้ในอดีตมีจำนวนมากอีกทั้งบางท่านได้เสียชีวิตไปแล้วอีกทั้งโครงสร้าง ส่วนราชการเปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น ที่ประชุม จึงได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในขณะนั้นคือ นายอมรทัต นิรัติศยกุล จัดหาสถานที่ประดิษฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้งจังหวัด (ทุกอำเภอ) ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัด คนปัจจุบัน (นายดิเรก ก้อนกลีบ) ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดหาสถานที่ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสามารถ ลอยฟ้า) เป็นประธาน และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปางเป็นกรรมการ และเลขานุการซึ่งคณะกรรมการจัดหาสถานที่ได้เพิ่มสถานที่ที่จะสร้างอีก 1 แห่ง คือ เกาะลอย สวนสาธารณะหนองกระทิง

ซึ่งในท้ายที่สุด ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถ สรุปสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้ ทางคณะกรรมการดำเนินงาน จึงได้มีมติให้ยึดพลังเสียงของมหาชนชาวลำปางเป็นหลัก โดยการดำเนินงาน สำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวจังหวัดลำปาง ว่าเห็นสมควรให้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ ณ สถานที่แห่งใด จึงจะเหมาะสมที่สุด

ดังนั้น จังหวัดลำปาง จึงขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปางในการเป็นองค์กรการศึกษาที่มีความเป็นกลาง ดำเนินงานสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดลำปาง (ทุกอำเภอ) ตามหลักของกระบวนการทางวิชาการอย่างถูกต้อง บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อนำผลการสำรวจเป็นเกณฑ์ ไปสู่การตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ตามลำดับขั้นตอนต่อไปอย่างชอบธรรมผลการสำรวจ

จากแบบสอบถามประชาชนทั้ง 13 อำเภอ , ผลการจัดทำเวทีพิจารณ์ ( Focus Group) และผลโหวตทางเว็บไซต์จังหวัดลำปาง พอสรุปได้ดังนี้ สถานที่ที่เปิดให้ประชาชนร่วมโหวตมีด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ ไร่รัศมีโรจน์, สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อ.เกาะคา และสวนสาธารณะหนองกระทิง ผลโหวตนั้น ปรากฏว่า สวนสาธารณะหนองกระทิงชนะใจทั้ง ประชาชน 13 อำเภอ เวทีพิจารณ์(Focus group) และผลโหวตทาง http://www.lampang.go.th/ ด้วยคะแนนร้อยละ 46.4 (696 จาก 1500 เสียง),66.5 (208 จาก 313 เสียง) และ 56 (615 จาก 1,098 เสียง) ตามลำดับ
.........................................
ที่มา :ความเป็นมา http://www.lampang.go.th/publish51/nars/pns2/main.htm
และผลการสำรวจความคิดเห็น
http://www.lampang.go.th/publish51/nars/naslpa1.htm
.........................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

ศุกร์ 2
พฤษภา 51

ไม่มีความคิดเห็น: