ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

พ่อค้ากดราคาข้าวเหนียวที่ลำปาง


ตัวแทนชาวนาต.พิชัยจ.ลำปางกว่า 20 คนเข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการเพื่อหากทางออกเกี่ยวกับราคาข้าวเหนียวที่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาจนทนขาดทุนไม่ไหว
ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000055771


แฟชั่นประท้วงระบาดถึงคิวข้าวเหนียวลำปาง ระบุพ่อค้าคนกลางกดราคาอ้างฝนตก
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤษภาคม 2551 14:35 น. http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000055771

ลำปาง - ชาวนาจากตำบลพิชัย จังหวัดลำปางกว่า 100 คน เดินทางขอพบหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยเหลือและรับซื้อข้าวเหนียว หลังจากที่ทนรับภาวะขาดทุนไม่ไหว ประกอบกับฝนตกหนักเป็นเหตุให้พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อตามใจชอบ

นายอุดม ไกรสุข แกนนำเกษตรกรร่วมกับเกษตรกร จาก บ้านม.8 ม.3 และม.10 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง กว่า 100 คน ได้เดินทางขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แต่เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดติดภารกิจที่กรุงเทพฯ จึงมีหัวหน้าส่วนที่รับผิดชอบ และเกี่ยวข้องโดยตรง 3 ส่วน คือ พาณิชย์จังหวัดลำปาง การค้าภายในจังหวัดลำปาง และ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง เป็นผู้เข้าร่วมเจรจาและรับฟังปัญหาของเกษตรกร แทน

โดยกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเสนอให้กับหน่วยงานราชการเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรประสบในขณะนี้ คือ พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในราคาถูก โดยในปีนี้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 6 บาท จากเดิมปีที่ผ่านมารับซื้อในราคา 7.60 บาท ขณะที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีจำนวนลดน้อยลง ต้นทุนเรื่องราคาปุ๋ยสูงขึ้น และเกษตรกรไม่มีเครื่องอบข้าว เมื่อฝนตกข้าวมีความชื้นสูงเมื่อเก็บไว้ทำให้ข้าวเกิดการเน่าเสีย จึงต้องการให้หน่วยงานราชการเร่งเข้ามาช่วยเหลือ

การเจรจาเบื้องต้น ทางราชการรับปากจะประสานงานกับโรงสีขนาดใหญ่เข้ามารับซื้อโดยตรง โดยรับซื้อข้าวดิบในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ข้าวแห้งราคากิโลกรัมละ 9 บาท ส่วนการอบข้าวนั้นค่าขนส่งต้องเป็นหน้าที่ของเกษตรกร แต่ราคาค่าอบข้าวจะเจรจาต่อรองหรือจะขอให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ลงไปดูแลให้ โดยทางภาครัฐขอเวลา 1 สัปดาห์ในการเจรจาและติดต่อผู้ซื้อมารับข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรก็พอใจในข้อเสนอและได้แยกย้ายกันกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.

สำหรับพื้นที่เขตตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง ที่ประสบปัญหาในขณะนี้ เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่าพันไร่ เมื่อปี 2550 ราคาขยับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 10-20% ทำให้ในปีนี้ราคาผลผลิตตกต่ำลง ประกอบกับฝนตกข้าวได้รับความเสียหาย ส่วนราคาค่าใช้จ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นทั้งค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าเกี่ยวข้าวและค่าแรง เฉลี่ยไร่ละ 4,000 บาท ขณะที่รายได้เมื่อขายแล้วได้ราคา 3,000 บาทต่อไร่ ขาดทุนไร่ละ 1,400 บาท
............................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST
อังคาร 13
พฤษภา 51

ไม่มีความคิดเห็น: