ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เครือข่ายแม่เมาะ ความเข้มแข็งบนการดิ้นรนต่อสู้

นายอำเภอลงพื้นที่เครือข่ายแม่เมาะ ชื่นชมกิจกรรมชาวบ้านเข้มแข็ง
24 มิถุนายน 2551
โดย ประชาไทออนไลน์
ที่มา :
http://prachatai.com/05web/th/home/12631

รายงานจากผู้สื่อข่าวแจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสมาชิกเครือข่ายฯหลังจากที่ได้รับ ทราบข้อมูลจากนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายฯ ว่าถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนอย่างหนักถึงขั้นทำร้ายร่างกายชาวบ้านที่ทำหน้าที่เฝ้าศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะจนสมาชิกหวาดกลัว อันเนื่องมาจากกรณีพิพาทระว่างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและกลุ่มผู้มีอิทธิพล เรื่องที่ดินรองรับระว่างการอพยพโยกย้ายราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะจังหวัดลำปาง

จากกรณีปัญหาการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าและทำเหมืองถ่านหินในบริเวณที่อยู่อาศัยโดยรอบๆจำนวน 4 หมู่บ้านที่ยืดเยื้อยาวนานจากการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมและมติคณะรัฐมนตรีเน้นการแทรกแซงจนทำให้เกิดการขัดแย้งทางความคิดของชาวบ้านและนำไปสู่ การแตกแยกของชาวบ้านและถึงขั้นแบ่งกลุ่มกันในที่สุดและเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมีทั้งนายทุน-พนักงานการไฟฟ้าเองและนักการเมืองหลายระดับเข้าจับจองพื้นที่รองรับการอพยพจำนวนกว่า1,000 ไร่ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิได้เข้าปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใดตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา

แต่ด้วยความขับเคลื่อนของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะและบวกเสริมการเอาจริงของนายอำเภอแม่เมาะคนใหม่นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ ทำให้มีการจับกุมผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 51 ที่ผ่านมา และได้สร้างความ โกรธแค้นต่อผู้ที่เสียผลประโยชน์ที่เป็นนายทุนขาใหญ่จึงได้ไปให้คนที่มีสีดังกล่าวมาทำร้ายร่างกายและข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่มีสิทธิในการเข้าอยู่อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อกดดันให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนให้หวาดกลัวและเปลี่ยนใจไม่อพยพตามใบสั่งฝ่ายมวลชน

นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะ กล่าวหลังจากเข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่ประเด็นปัญหาว่า “จากนี้ต่อไปตนจะไม่ยอมให้ใครกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกทุกฝ่ายต้องหยุดคุกคามชาวบ้านเพราะว่าการแบ่งกันพื้นที่สำหรับรองรับการอพยพนี้ถือเป็นนโยบายที่รัฐได้บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนหากใครยังมีการกระทำการใดๆเช่นนี้อีกตนเองจะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดแน่นอน” พร้อมยืนยันกับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มสมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะว่าขณะนี้ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดเพื่อเร่งรัดให้มีการสำรวจรังวัดชี้แนวเขตที่ดินรองรับการอพยพฯทั้ง 493แปลงเพื่อให้มีการ ออกโฉนดชุมชนให้แก่ชาวบ้านเหล่านี้ต่อไป

ต่อคำถามที่ว่ากรณีผู้ที่ได้ครอบครองที่ดินเกินกว่าที่รัฐกำหนดให้จะดำเนินการอย่างไร นายอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่าก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการของกฎหมายเพราะว่าชาวบ้านทุกคนทั้ง 493 ครอบครัวมีสิทธิในแปลงรองรับการอพยพคนละ 1 ไร่ตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ตนเองมาอยู่ที่นี่เพียง 5 เดือน แต่ก็ได้ทำงานหนักเหมือนกับอยู่มาแล้ว 3 ปีด้วยปัญหาใหญ่ที่พบคือเรื่องการอพยพชาวบ้านตามมติคณะรัฐมนตรีที่ฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจริงใจและต้องเร่งรัดแก้ปัญหาด้วยเพราะปัญหาที่เกิดมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะหากผู้สร้างปัญหาหยุดเพิ่มปัญหาแล้วแก้ไขตามที่ชาวบ้านร้องขอทุกอย่างยุติแน่ ผมรับรอง”

และขณะเดียวกันก็พบว่าเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะที่เป็นองค์ชาวบ้านที่มีส่วนสำคัญในการอพยพครั้งนี้กลับเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความเข้มแข็งที่สุดและมีพัฒนาการที่น่าสนใจ จากการพยายามช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมร่วมกันมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบออกมาขายด้วยการระดมทุนภายในและมีแนวคิดที่สร้างสรรค์ ตนประทับใจกับผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นแนวคิดที่อ่อนโยนและมากมายด้วยศิลปและการตนตรีผสมผสานของสมาชิกกลุ่มซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาพลักษณ์ของเครือข่ายที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านพลังงานและพร้อมที่จะหนุนเสริมทั้งทางด้านการส่งบุคลากรเข้ามาอบรมพัฒนาฝีมือ และเตรียมนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเพื่อ ยกระดับเป็นสินค้าโอทอปของอำเภอและจังหวัดต่อไป

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่ารู้สึกเห็นใจนายอำเภอเพราะว่าจะต้องพบกับปัญหาอุปสรรคอีกมากมายทางด้านการปกครองด้วยระบบการเงินอุปถัมภ์ที่มีมายาวนาน เพราะว่า “อำเภอแม่เมาะเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศและต่างประเทศคู่ขนานกับคำว่า “เครือข่ายสิทธิผู้ป่วย” แม่เมาะ เพียงแค่เปิดเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตก็จะค้นพบว่าเป็นบันทึกที่ยาวนานแห่งประวัติการต่อสู้ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐทางด้านพลังงาน

ทั้งนี้ตนเองและสมาชิกทุกคนในเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้ร่วมกันสร้างภูมิต้านทานทางวัฒนธรรมการรอของบประมาณการเงินอุดหนุนฟรี ด้วยการพึ่งตนเองก่อนแล้วจึงรับการช่วยเหลือจากสังคมในรูปแบบขายความคิดด้วยความยากลำบากด้วย

ถึงแม้ว่าอำเภอแม่เมาะคืออำเภอที่รวยที่สุดของประเทศไทยจากเงินสนับสนุนกองทุนชุมชนรอบๆโรงไฟฟ้า ที่ได้มาจากพลังงานถ่านหินกว่า 300 ล้านบาทต่อปี และกองทุนอื่นๆอีกมากมาย ต่อประชากรประมาณ 30,000กว่าคน นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจริง แต่กลับจะทำให้ชุมชนอ่อนแอยิ่งขึ้นและตกอยู่ในสภาพทำตามคำสั่งของผู้ที่กำกับโครงการต่างๆ และในที่สุดผู้ที่อ่อนแอ และอ่อนหล้าจะถูกเบียดออกจากพื้นที่และเปิดเนื้อที่ให้ผู้แข็งแรงกว่าเข้ามาแบ่งปันโครงการปั้นกินกันเอง

เรามองภาพกองทุนนี้เป็น “กองทุนบาป” เพราะมันถูกก่อตั้งขึ้นมาจากการเรียกร้องของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบอย่างพวกเรา และหลายร้อยคนเขาได้เสียชีวิตไปแล้วระหว่างรอกองทุนเพื่อการเยียวยาเราไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกองทุนที่ไม่บริสุทธิ์นี้แต่เราจะจับตาดูการใช้เงินจากกองทุนทุกสตางค์แดงว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ที่เสียชีวิตเพราะการรอคอยเหล่านั้นหรือไม่ ถึงแม้จะสิ้นลมหายใจไปอีกกี่คนก็ตามเราจะถือว่าบาปกรรมหนักจากการกระทำของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องผลกระทบโดยเฉพาะผู้บริหาร กฟผ. ครั้งนี้ ต้องเป็นบทเรียนที่มวลมนุษยชาติศาสนาพุทธไม่มีวันลืม
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

พฤหัส 26
มิถุนา 51

ไม่มีความคิดเห็น: