ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ดีเดย์ 31 พ.ค. ปิดพุทธสถานห้ามเข้า-ออก เลิกแผงพระ


พุทธสถาน ถนนบ้านเชียงราย ใกล้ห้าแยกหอนาฬิกา ถ่ายเมื่อ 22 พฤษภาคม 2551

ดีเดย์ 31 พ.ค. ปิดพุทธสถานห้ามเข้า-ออก เลิกแผงพระ
ที่มา : ลานนาโพสต์
http://www.lampangpost.com/news/678-5.htm

จังหวัดเอาจริง 31 พ.ค.นี้ปิดประตูพุทธสถานห้ามคนเข้า หากแผงพระไม่ย้ายออกทรัพย์ทั้งหมดจะตกเป็นของวัดเชียงราย

เมื่อวันที่20 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่าน พระครูวรกิจจารักษ์ เจ้าอาวาสวัดเชียงราย นายมงคล ขัดผาบ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง นายทัศพล อ๊อดปัญญา นายสมภพ สุวรรณปัญญา พร้อมด้วยประชาชนกว่า 100 คน ร่วมกันประชุมเพื่อหาข้อยุติเรื่องพื้นที่พุทธสถานของวัดเชียงรายที่จะไม่ให้พุทธสมาคมใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยมี พระราชธรรมลังกา เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุมครั้งนี้ด้วย

โดยที่ผ่านมาพระครูวรกิจจารักษ์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กรณีที่นายสิงห์คำ นราพันธ์ นายกพุทธสมาคมจังหวัดลำปาง ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าบริเวณพุทธสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ธรณีสงฆ์ของวัดเชียงรายให้กับนางสิริกร แจ่มสุวรรณ ที่ผ่านมาทางวัดได้พยายามร้องขอรวมทั้งทำหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้ง 2 ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นแต่ก็ไม่เห็นผลแต่อย่างใด เรื่องนี้ นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มอบหมายให้นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้ดำเนินการ ซึ่งทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดจัดระเบียบสังคมเข้ามาร่วมกับประชุมคณะกรรมการวัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เพื่อหาเท็จจริงในเรื่องนี้ จึงได้มีการประชุมกันหลายครั้ง และมีมติที่ประชุมให้วัดออกประกาศถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ออกจากบริเวณพุทธสถานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อจะใช้เป็นสถานที่ก่อเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์

แต่ผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ยอมออกไป และทางวัดกลับได้รับหนังสือจากสำนักงานทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ โดยมีเนื้อหาขอโต้แย้งการประชุม บันทึกการประชุมให้ยุติการรบกวน การครอบครอง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำละเมิด และได้มีการทำสัญญาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยสัญญาฉบับล่าสุดทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2548 ระหว่างนายสิงห์คำ นายกพุทธสมาคม และนางสิริกร แจ่มสุวรรณ มีสัญญา 3 ปีจะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2551 นี้

จากการที่วัดได้ออกประกาศให้ผู้เช่าแผงพระย้ายออก ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จังหวัดจึงได้มีการออกหนังสือเชิญเจ้าคณะจังหวัดลำปาง พุทธสมาคม นางสิริกร แจ่มสุวรรณ ผู้ประกอบการแผงพระ และชาวบ้าน เข้าร่วมประชุมที่วัดเชียงรายเพื่อหาข้อยุติให้ได้ ในวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

สำหรับบรรยากาศในการประชุมที่บริเวณลานวัดเชียงรายได้มีตัวแทนจากคณะกรรมการวัด ตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง ชุดจัดระเบียบสังคมของจังหวัด และชาวบ้านเข้ามาร่วมประชุมกว่า 100 คน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นายสิงห์คำ นราพันธุ์ นายกพุทธสมาคม นางสิริกร แจ่มสุวรรณ รวมทั้งผู้ประกอบการแผงพระไม่มีใครมาเข้ามาร่วมประชุมแม้แต่คนเดียว ทางตัวแทนชาวบ้านได้แจกเอกสารข้อมูลของพุทธสถานให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมประชุม โดยมีเนื้อหาว่า

การเลือกตั้งพุทธสถานไม่เป็นประชาธิปไตย คุณสิงห์คำเป็นทุกยุคทุกสมัย การเลือกตั้งได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านเสด็จ บ้านทราย มาเป็นสมาชิก โดยออกค่าใช้จ่ายให้เพื่อแลกกับผลประโยชน์ เรื่องทุนการศึกษาบุตรหลาน ตลอดจนถึงคนจากต่างจังหวัดที่เป็นญาติเข้ามาเป็นกรรมการ เป็นการดำเนินการที่ต่างจากสมัยก่อนที่คณะกรรมการมาด้วยความสมัครใจและศรัทธา คณะผู้บริหารพุทธสมาคมในปัจจุบันเป็นระบบเครือญาติทั้งหมด ตลอดจนจัดทำธุรกิจในที่ธรณีสงฆ์ด้วย การปลูกสิ่งก่อสร้างตัดถอนต้นไม้ในพื้นที่ของธรณีสงฆ์เจ้าอาวาสไม่ทราบทำโดยพละการเพื่อหวังทำประโยชน์ อีกทั้งผู้เช่าแผงพระที่มาจากที่อื่น จากต่างจังหวัดเข้าใจผิดมาตลอดคิดว่ารายได้จากการเก็บค่าเช่าโต๊ะขนาดใหญ่ 200 บาท โต๊ะขนาดกลาง 150 บาท โต๊ะเล็ก 100 เป็นรายได้ของวัดเชียงรายทั้งหมดตามที่ผู้จัดผลประโยชน์แอบอ้างและไม่มีใบเสร็จรับเงิน และการบริหารงานต่างๆส่วนใหญ่คณะกรรมการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร งานทั้งหมดขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว ไม่มีการประชุม

ข้อสรุปของการประชุมของตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติต้องการให้พุทธสมาคมควรออกจากพุทธสถานกลับมาอยู่ศาลาธรรมวัดเชียงรายเหมือนเดิม ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องออกไป เพราะวัดมีแผนโครงการที่จะทำเร่งด่วนในพุทธสถาน และสัญญาเช่าไม่ได้ทำกับวัดใครมีสิทธิ์เอาที่ธรณีสงฆ์ของวัดไปให้เช่าก็ให้รับผิดชอบกันเอาเอง คณะกรรมการและชาวบ้านต้องการที่จะปรับปรุงพุทธสถานโดยเร็วที่สุด ที่ของธรณีสงฆ์(พุทธสถาน)โฉนดเป็นของวัดเชียงราย ทางวัดไม่เคยยกให้พุทธสมาคม

ในด้านของนายสมภพ สุวรรณปัญญา คณะกรรมการวัด ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้เช่าที่ธรณีสงฆ์จากพุทธสมาคม มีนายสิงห์คำ เป็นนายกฯ ผู้เช่ามีรายได้อาทิตย์ละ 10,000 บาท คิดเป็น 1 เดือนเท่ากับ 40,000 บาท ปีละ 480,000 บาท พุทธสมาคมทำสัญญาเช่ามาแล้ว 6 ปี คิดเป็นเงินย้อนหลังประมาณ 2,800,000 บาท ทางวัดได้รับเงินจากผู้เช่าบ้างไม่ได้บ้างเดือนละ 500 บาท คิดเป็นปีละ 6,000 บาท ย้อนหลัง 6 ปี 36,000 บาท ส่วนต่างจากผู้ประกอบการกับวัดอยากให้ชาวบ้านดูว่ามีความแตกต่างกันมากแค่ไหน ผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร วันนี้อยากให้กลุ่มของพุทธสมาคม คุณสิริกร และผู้ประกอบการแผงพระเข้ามาร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติแต่กลับไม่มา ซึ่งตนได้เตรียมข้อมูลที่มีความชัดเจนในแต่ละเรื่องมาชี้แจงให้ฟังน่าเสียดายที่ไม่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้

นายทัศพล อ๊อดปัญญา หัวหน้าชุดจัดระเบียบสังคมของจังหวัดลำปางได้กล่าวหลังจากที่ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินการขั้นตอนต่อไปของจังหวัดว่า
“ทางจังหวัดจะทำประกาศให้ ผู้ที่อยู่ในพุทธสถานทั้งหมดออกจากบริเวณพุทธสถานภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 หากไม่ย้ายสิ่งของออกในวันที่กำหนด ทางจังหวัดจะถือว่าสิ่งของเหล่านั้นตกเป็นสมบัติของวัดเชียงราย และในวันที่ 1 มิถุนายน จะนำเจ้าหน้าที่ อส.นำกุญแจมาล๊อกประตูทั้ง 2 ด้าน พุทธสมาคมให้กลับมาอยู่ที่ตั้งเดิมคือศาลาธรรมวัดเชียงราย หากผู้ใดไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดและดำเนินการในชั้นศาลต่อไป"
...........
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

พุธ 28
พฤษภา 51

ไม่มีความคิดเห็น: