ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เถินขู่ปิดถนน ขออ่างเก็บน้ำแม่ปะ

แผนที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง
ที่มาภาพ :
http://www.thaitraveltalk.com/showthread.php?p=1522



แผนที่อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จ.แพร่
ที่มาภาพ : http://www.tws.ac.th/poxy/files/manu_01.htm


ขู่ปิดถนนใหญ่ ขออ่างเก็บน้ำ
ที่มา : ลานนาโพสต์
http://www.lampangpost.com/news/678-6.htm

ชาวบ้าน ต.แม่ปะ อ.เถิน กว่า 1,000 คน บุกที่ว่าการอำเภอเถิน เรียกร้องสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปะ ขู่ปิดถนนสายกรุงเทพฯ หากไม่ได้รับความคืบหน้า 10 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 เวลาประมาณ 09.00 น. ชาวบ้าน 10 หมู่บ้าน ต.แม่ปะ อ.เถิน นำโดยนายสมบูรณ์ ติ๊บปะละวงศ์ แกนนำระดับตำบล ได้รวมตัวกันกว่า 1,000 คน เดินทางมาปิดถนนเถินบุรี หน้าที่ว่าการอำเภอเถิน จ.ลำปาง เพื่อเรียกร้องขอทราบผลความคืบหน้า เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แม่ปะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.แม่ปะ อ.เถิน

เนื่องจากได้มีการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเมื่อปี 2549 จำนวน 23 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง เพราะพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ซึ่งทางจังหวัดลำปางได้ทำหนังสือไปถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอเข้าไปใช้พื้นที่ แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ชาวบ้านตำบลแม่ปะจึงเกรงว่างบประมาณจำนวน 23 ล้านบาทจะตกไปในวันที่ 30 กันยายน 2551 จึงได้ร่วมตัวกันมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม และขอผลความคืบหน้าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว โดยมีนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายสุวิทย์ เล็กกำแหง นายอำเภอเถิน ได้พูดคุยทำการชี้แจงกับชาวบ้าน

นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากปี 2540 ทางราษฎรได้ถวายขอพระมหากรุณาธิคุณกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการจะสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระมหากรุณาธิคุณรับมอบโครงการนี้อยู่ในโครงการพระราชดำริ พื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ซึ่งจะทำให้ลำห้วยต่างๆบนดอยไหลมารวมกัน ทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งและฤดูเพาะปลูกได้ ในขณะเดียวกันเป็นการชะลอการพังทลายของดินด้วย เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่อยู่คนละฝั่งกับ อ.วังชิ้นที่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มมาแล้ว ซึ่งโครงการได้รับการเรียกร้องตลอดมามีการออกแบบดำเนินการเสร็จสิ้น และรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมาให้ในปี 2549 จำนวน 23 ล้านบาท

เมื่ออนุมัติแล้วทางกรมชลประทานก็ได้ทำการประกวดราคา ได้บริษัทรับจ้างที่จะเข้ามาทำและได้ทำสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างได้ เพราะพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ทางผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้ขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่ โดยการจะอนุญาตได้ ไปติดกับมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งจะทำให้พื้นที่เสียหาย ถึงแม้กรมอุทยานฯเห็นว่าถ้าทำแล้วจะเกิดผลดีต่อประชาชนก็ตาม

เพราะฉะนั้นจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการบริหารอุทยานแห่งชาติ เพื่อที่จะพิจารณาอนุมัติให้เพิกถอนพื้นที่นี้ออกจากอุทยานแห่งชาติ กรรมวิธีตรงนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องและกรมอุทยานฯได้ตอบหนังสือกลับมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ว่ากำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการบริหารอุทยานแห่งชาติ แต่ประชาชนตำบลแม่ปะเกรงว่างบประมาณตรงนี้จะตกไป เพราะคำตอบยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการอนุญาตเมื่อไร จนถึงวันนี้ประชาชนชาวตำบลแม่ปะ จึงได้รวมตัวกันมาขอความช่วยเหลือที่ ที่ว่าการอำเภอเถิน

ขณะนี้ได้ประสานกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแล้ว ซึ่งท่านรับที่จะช่วยนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารอุทยานแห่งชาติ ไม่เกินวันที่ 10 มิถุนายน 2551 หลังจากนั้นในกระบวนการขั้นต่อไปจะมีการนำเรื่องเสนอกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาในการนำเข้าสู่ ครม. เพิกถอนพื้นที่แห่งนี้จำนวน 146 ไร่ จากเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่เพื่อที่จะช่วยในการติดตามเรื่องดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นได้ในเดือนกรกฎาคม และให้ทางบริษัทผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณนี้

นายสมบูรณ์ ติ๊บปะละวงศ์ แกนนำชาวบ้าน ต.แม่ปะ อ.เถิน กล่าวว่า ชาวตำบลแม่ปะ มีพื้นที่อยู่อาศัยทำกินสองฝั่งลำห้วยแม่ปะ ซึ่งประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนน้ำในลำห้วยจะไหลเชี่ยว ทำให้ท่วมพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกอยู่บริเวณสองฝั่งลำห้วย หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปะแล้วในช่วงฤดูฝนจะสามารถเก็บกับน้ำที่ไหลลงมาในลำห้วยไม่ให้ท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของราษฎรได้ อีกทั้งยังมีน้ำใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้งด้วย และชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ดินถล่มที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่

การรวมตัวกันในครั้งนี้จึงอยากทราบว่า จากที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว 23 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ อยากทราบว่างบประมาณอยู่ที่ไหน หากวันที่ 30 กันยายน 2551 ต้องคืนเงินให้รัฐบาล ขอให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ช่วยเซ็นอนุมัติผ่อนผันให้เข้าไปใช้พื้นที่ก่อนได้หรือไม่ และหากจะต้องคืนเงิน 23 ล้านบาทให้กับรัฐบาล อธิบดีฯจะรับผิดชอบกับชาวบ้านหรือไม่อย่างไร โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประสานไปยังอธิบดีกรมอุทยานฯแล้ว ซึ่งอธิบดีกรมอุทยานฯรับปากว่าจะดำเนินการประชุมคณะกรรมการฯภายในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ และจะส่งช่างมาสำรวจเร่งรัดพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง

หากว่าไม่มีความคืบหน้าในวันที่ 10 มิถุนายน คราวนี้ชาวบ้านจะไม่ยินยอมอีก และจะมาชุมนุมปิดถนนสายหลักจนกว่าจะได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ
...........
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

พุธ 28
พฤษภา 51

ไม่มีความคิดเห็น: