บทบรรณาธิการ
เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500
แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี
เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด
หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย
ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"
ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51
วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
นิด้าดูเหมืองแม่เมาะ หาศักยภาพแร่ลิกไนต์อาเซียน-จีน
ที่มา : ลานนาโพสต์ออนไลน์
http://www.lampangpost.com/local/news2.htm
นิด้า ศึกษาข้อมูลเหมือง และโรงไฟฟ้า กฟผ.แม่เมาะ
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 คณะเจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้เดินทางมาศึกษาข้อมูลการทำเหมืองและโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาศักยภาพการแข่งขันผลกระทบ และแนวทางปรับตัวอุตสาหกรรมแร่ และอุตสาหกรรมพื้นฐานภายใต้ความตกลง อาเซียน-จีน”
โดยมีคุณพินิจ เสมอวงษ์ วิศวกรระดับ 11 (ชชป.) และนายโอภาส จริยภูมิ นักธรณีวิทยาระดับ 10 ให้ข้อมูลพร้อมทั้งบรรยายสรุป เกี่ยวกับภารกิจของสายงานเชื้อเพลิง ในการจัดหาเชื้อเพลิงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าและภารกิจของเหมืองแม่เมาะในการขุดขนถ่านเพื่อส่งให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตลอดจนเทคโนโลยีการทำเหมืองเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน รวมถึงการนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ซึ่งคณะฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และได้ซักถามข้อมูลด้านต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ คณะวิจัยจะได้นำไปใช้ในการศึกษาศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ลิกไนต์ของไทย ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน.
..............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST
พุธ 21
พฤษภา 51
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น