บทบรรณาธิการ
เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500
แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี
เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด
หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย
ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"
ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51
วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2551
หวั่นฝันค้างรถไฟเด่นชัย-เชียงรายเชื่อมจีน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤษภาคม 2551 10:33 น.
ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000062965
พะเยา – องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ คาด รถไฟเด่นชัย-เชียงราย ฝันค้าง ไม่มั่นใจจะเกิดได้เพราะรัฐบาลไม่มีงบ ฯ อีกทั้งที่ดินยังไม่มีการเวนคืน ชาวบ้านรอเก้อจนถึงทุกวันนี้ ด้าน ส.ส.ดันรางคู่เชื่อม จีน-ไทย-เวียดนาม กระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศรุ่ง
นายสุรพล เต็มสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ที่ได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ว่า นับเป็นเวลานานกว่า 6-7 ปีแล้ว ที่โครงการดังกล่าวบางช่วงผ่านพื้นที่ ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้หลายรัฐบาลที่ผ่านมาให้เหตุผลว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอหรือไม่คุ้มทุนหากมีการลงทุนก่อสร้างจริง
ดังนั้น จึงทำให้โครงการดังกล่าวเป็นเพียงฝันค้างจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนตัวตนคิดว่าคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะขณะนี้รัฐบาลก็คงไม่มีงบประมาณเพียงพอเช่นกัน สังเกตได้จากที่ดินของประชาชนตามแนวเส้นทางผ่านของการศึกษาวางแผนในโครงการดังกล่าวยังไม่มีการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด
โดยส่วนตัวไม่มีความมั่นใจว่าเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย จะเกิดขึ้นได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณ ขณะเดียวกันกรมทางหลวงชนบทได้มีการเตรียมการสร้างเส้นทาง 2-4 ช่องทางจราจรผ่านทุ่งลอ เชื่อม R3A ใช้งบประมาณนับพันล้านบาท เส้นทางดังกล่าว คาดว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าเส้นทางรถไฟเพราะมีงบประมาณรองรับแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเส้นทางหากสร้างได้จะเป็นเส้นทางรองรับการคมนาคมขนส่งได้อย่างดี โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจะทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งทางบกได้ดีที่สุด ถ้าสร้างได้คิดว่าจะเชื่อมเส้นทางระหว่างประเทศไทย-ประเทศจีน ตอนใต้ ได้อย่างลงตัว
ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า เส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย โครงการเดิมตนเห็นด้วยในเรื่องของเส้นทางเชื่อม แต่หากเป็นการก่อสร้างรางรถไฟรางเดี่ยวตนไม่เห็นด้วยเพราะไม่คุ้มทุน เนื่องจากปัจจุบันในเอเชียเส้นทางรถไฟเป็นรางคู่หมดแล้ว ทั้งในประเทศจีน เวียดนาม ก็ใช้รถไฟรางคู่
ดังนั้น หากจะผลักดันให้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย จะต้องทำเป็นรางคู่ เชื่อมตั้งแต่ประเทศจีน ตอนใต้ มายังประเทศไทย และเชื่อมโยงไปถึงประเทศเวียดนาม ทำให้เกิดการกระจายความเจริญด้านเศรษฐกิจตลอดพื้นที่ของเอเชียจึงจะทำให้เกิดการคุ้มทุนในการก่อสร้าง ซึ่งในประเทศไทยเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองต่างๆ ก็ต้องเป็นรางคู่ด้วยเช่นกัน คาดว่าต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาทจึงสามารถดำเนินการได้
“หากจะสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ตนคิดว่าต้องยึดเส้นทางตามการศึกษาเดิมที่ได้มีการวางแนวไว้ ไม่ต้องศึกษาใหม่เพราะจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น”
....................
ผู้สื่อข่าว
onlampang POST
เสาร์ 21
มิถุนา 51
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น