ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

บทความเรื่อง "ลำปางคูณ" บทพิสูจน์เซรามิกลำปาง


ตัวอย่างผลงานบริษัท ลำปางคูน เซรามิค จำกัด
ที่มา :
http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9510000078414


เรวัตร ไชยยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลำปางคูน เซรามิค จำกัด
ที่มา :
http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9510000078414

‘ลำปางคูน’ ฉีกกรอบเซรามิค สู่ความสำเร็จจากความต่าง
โดย ผู้จัดการออนไลน์

7 กรกฎาคม 2551 09:12 น.
ที่มา :
http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9510000078414

เซรามิค แบรนด์ “ลำปางคูน” (LAMPANGKOON) จาก จ.ลำปาง โดดเด่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ นำธรรมชาติรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับฝีมือการปั้นแฮนด์เมด ผลงานออกมาจึงมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ช่วยเสริมศักยภาพขายได้ราคาสูง สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางปัจจัยลบสารพัดในปัจจุบัน

เจ้าของผลงานดังกล่าว คือ “เรวัตร ไชยยารักษ์” ซึ่งจบการศึกษามาทางออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรง จากนั้นสะสมประสบการณ์ในตำแหน่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิคให้แก่หลายบริษัท ใน จ.ลำปาง นานกว่า 10 ปี จนเรียนรู้ทุกกระบวนการเกี่ยวกับธุรกิจนี้ครบถ้วน ตัดสินใจออกมาตั้งบริษัท ลำปางคูน เซรามิค จำกัด ของตัวเอง เมื่อปี 2530 ด้วยเงินทุน ประมาณ 4 แสนบาท

“ตอนนั้น เซรามิคใน จ.ลำปาง ยังมีรูปแบบไม่หลากหลายนัก เมื่อเปิดบริษัทเอง ผมเลือกจะวางรูปแบบให้เป็นเซรามิคที่ไม่จำเจในตลาด วัตถุดิบและสีที่ใช้เป็นแนวธรรมชาติ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์ที่ออกมาดูแล้วแปลกตา แต่ก็สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นงานแฮนด์เมด เพื่อเป็นช่องทางหาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม” เรวัตร ระบุ

สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบแต่ละชิ้นนั้น เจ้าของผลงานบอกว่า จะมองหาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาผ่านกระบวนการความคิด เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าให้ผลงานที่จะสร้างสรรค์ขึ้น ได้รับความนิยมในอนาคต

“การออกแบบของผมจะไม่ตามเทรนด์นิยมในปัจจุบัน แต่ผมอยากจะเป็นผู้นำเสนอเทรนด์ใหม่ โดยคิดดักล่วงหน้าไว้ว่า แบบนี้น่าจะได้รับความนิยมในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา เพื่อคาดเดาเทรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ประกอบกับใช้คำแนะนำจากลูกค้ามาพิจารณาร่วมด้วย” เจ้าของธุรกิจ อธิบาย

เนื่องจากมีพื้นฐานในธุรกิจครบถ้วน อีกทั้ง สินค้าโดดเด่นอย่างมาก เคยคว้ารางวัลการประกวดเซรามิคระดับประเทศมากมาย เช่น รางวัลผลงานดีเด่น งานแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 6 , 7 และ 9 รางวัลหัตถกรรมยอดเยี่ยมภาคเหนือ ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น ช่วยให้เซรามิคแบรนด์ “ลำปางคูน” เป็นที่รู้จัก และได้รับการตอบรับมายาวนานมาถึงปัจจุบัน

สำหรับกลุ่มลูกค้ามีทั้งตลาดในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ สินค้าส่วนใหญ่เน้นเป็นงานชิ้นใหญ่ เพื่อการตกแต่งสถานที่ ลูกค้าหลัก ได้แก่ โรงแรม ระดับ 5 ดาว และบูติกรีสอร์ทต่างๆ รวมถึง ร้านอาหารไทยในต่างแดน

แม้ว่าจะเป็นนักออกแบบเซรามิคระดับแนวหน้าของ จ.ลำปาง ทว่า ในมุมมองของเรวัตร กลับไม่ยึดติดว่า งานดีไซน์ต้องแปลกแหวกแนวเท่านั้น เพราะในโลกความเป็นจริงทางธุรกิจ นักออกแบบไม่ควรยึดติดกับทัศนคติของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเพื่อตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือเพื่อตอบสนองตลาดวงกว้าง เพียงแต่ว่า สินค้าทุกชิ้นควรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ผู้ซื้อจดจำได้

“สินค้าอันดับหนึ่งของผม ยังเป็นประเภทของตกแต่งที่มีดีไซน์แตกต่างมากๆ อย่างเช่นงานโอ่ง แจกัน และของตกแต่งต่างๆ ซึ่งราคาค่อนข้างสูง คนที่จะซื้อสินค้าประเภทนี้ จะเป็นกลุ่มที่รักในงานดีไซน์จริงๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเจ้าของกิจการ ส่วนเซรามิคประเภททั่วไปใช้ในครัวเรือน ผมก็ผลิตเช่นกัน ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ราคาแค่สิบบาท แต่ถึงจะเป็นสินค้าเครื่องใช้ทั่วไป ก็ควรมีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยประยุกต์ให้ใช้งานได้เหมาะสม” เรวัตร กล่าว

จากแนวคิดนี้ ทำให้สินค้าของ “ลำปางคูน” มีรวมกันนับพันแบบ การออกแบบโดยหลักยังเป็นหน้าที่ของเรวัตร โดยปัจจุบัน มีคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกฝนเป็นลูกมือพร้อมจะก้าวขึ้นมาเป็นนักออกแบบระดับแนวหน้าในอนาคต ด้านราคาขาย เริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหมื่น วัตถุดิบหลักใช้ดินลำปาง มีศักยภาพการผลิต ประมาณ 2,000 ชิ้นต่อเดือน ช่องทางจำหน่ายภายในประเทศ ผ่านร้านตัวแทนในตลาดนัดสวนจตุจักร และ ถ. สุขุมวิท ส่วนส่งออกจะผ่านบริษัทตัวแทน ตลาดหลัก คือ ยุโรป รายได้ของบริษัทประมาณหลักแสนต่อเดือน

เนื่องจากสินค้าเซรามิค ต้นทุนสำคัญ คือ ค่าพลังงานในการเผา ซึ่งในยุคนี้ รู้กันดีว่า ค่าพลังงานต่างๆ พุ่งทะยานไม่หยุด กระทบให้ต้นทุนการผลิต สูงขึ้นกว่าเดิม 20-30% ทีเดียว อีกทั้ง ต้องยอมรับว่า สินค้าประเภทนี้จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นกัน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าจึงชะลอการซื้อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เพราะสินค้าเน้นลูกค้าตลาดบน ราคาขายสูงกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาด ทำให้กำไรต่อหน่วยยังสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินไปได้ ต่างจากผู้ผลิตเซรามิคหลายรายใน จ.ลำปาง ที่กำลังลำบากอย่างหนัก เพราะเน้นทำสินค้าราคาถูก เมื่อเจอวิกฤตค่าพลังงานแพง ประกอบกับเจอคู่แข่งอย่างจีนแย่งตลาด ทำให้ธุรกิจมีแนวโน้วจะไปต่อไม่ไหว

เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว เรวัตร เผยว่า ผู้ประกอบการเซรามิคใน จ.ลำปาง ประมาณ 20 ราย ได้รวมกลุ่มตั้งคลัสเตอร์ ในชื่อ “เซรา คลัสเตอร์” เพื่อช่วยเหลือ และเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดอบรมความรู้ในการพัฒนาสินค้า ร่วมกันไปออกโรด โชว์แสดงสินค้า เพื่อขยายตลาด เป็นต้น ที่ผ่านมาช่วยให้สมาชิกลุ่มมีตลาดเพิ่มขึ้น ตลอดจนพาความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้าถึงมากขึ้นด้วย

เรวัตร กล่าวตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญที่ยึดมั่นตลอดในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ ไม่หยุดพัฒนา ทั้งในแง่ของฝีมือการออกแบบ แต่รวมไปถึงมุ่งพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยพยายามศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ มาต่อยอดกับพื้นฐานความรู้เดิม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไป ซึ่งแนวคิดนี้เชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน
.......
เอื้อเฟื้อแจ้งข่าวโดย
คุณทัศนีย์ ขัดสืบ
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

พฤหัส 10
กรกฎา 51

ไม่มีความคิดเห็น: