ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ตั้งร.ร.แก้จนคนลำปางพอเพียง

คนเมืองรถม้าเดินตามรอยพ่อ ตั้งร.ร.แก้จนคนลำปางพอเพียง
โดย คมชัดลึก
ที่มา :
http://www.komchadluek.net/2008/06/26/x_agi_b001_208744.php?news_id=208744วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551

จากข้อมูลการจดทะเบียนคนจนใน 8 กลุ่มปัญหาของ จ.ลำปาง มีผู้จดทะเบียนขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐแล้วทั้งสิ้น 219,749 คน

ในขณะที่ข้อมูลขั้นพื้นฐานประชาชน หรือ จปฐ.ชาว จ.ลำปาง พบอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีฐานะความยากจนตกเกณฑ์ จปฐ. หรือมีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 2.3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี กระจายอยู่ทั่วจังหวัด เป็นที่มาของ โครงการโรงเรียนแก้จนคนลำปางพอเพียงตามแนวพระราชดำริ มุ่งช่วยแก้วิกฤติและปัญหาคนจนเหล่านี้

ดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ยึดหลักความพอเพียง และน้อมนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ซึ่งจะช่วยสร้างความหวังใหม่ให้แก่คนจน ผู้มีรายได้น้อย ได้มีอาชีพ มีรายได้ อยู่อย่างเพียงพอ ทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น

โรงเรียนแก้จนคนลำปางพอเพียงฯ เป็นโรงเรียนคล้ายกับโรงเรียนชีวิต โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีอาคารเรียน ไม่มีกระดานดำ โต๊ะเรียน หรือแม้กระทั่งครู แต่เป็นชาวบ้านที่มีจิตอันเป็นสาธารณะ เป็นผู้รู้ ที่เรียกว่า นักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาอาชีพทุกๆ ด้าน หรือถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ามาเป็นผู้ประสาทวิชา คอยสั่งสอน แนะนำให้หมู่ชาวบ้านที่มาจากครอบครัวที่ยากจน มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. รวมถึงประชาชนผู้สนใจ ปัจจุบันสามารถก่อตั้งโรงเรียนแก้จนคนลำปางพอเพียงแล้ว 2 แห่ง ที่ อ.สบปราบ และ อ.เถิน

"ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพจากโรงเรียนแก้จน สามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปประกอบสัมมาอาชีพ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว หรือเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อใช้เป็นอาหารในครัวเรือน ทำให้ลดรายจ่ายในหมวดอาหารลงไปได้ และหากผลผลิตดังกล่าวมีมาก ก็ยังสามารถนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวต่อไป ประชาชนที่ผ่านการถ่ายทอดความรู้จำนวนไม่น้อยนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาทรัพยากรครัวเรือน เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือที่ดินของตน ซึ่งปล่อยรกร้างว่างเปล่า ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า" ดิเรกกล่าว

นายสุวิทย์ เล็กกำแหง นายอำเภอเถิน กล่าวถึงความสำเร็จของโรงเรียนแก้จนคนเมืองเถินพอเพียง ว่า บนเนื้อที่การดำเนินงาน 17 ไร่เศษ ของโรงเรียนแก้จนคนเมืองเถิน สภาพดินส่วนใหญ่ค่อนข้างเสื่อม เพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ผล จึงอาศัยวิธีแกล้งดิน ตามพระราชดำรัสในหลวง พัฒนาให้ดินฟื้นคืนสภาพ กลายเป็นดินที่กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง พร้อมทั้งการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรหมุนเวียนหลายชนิด ผสมผสานกับการเลี้ยงปศุสัตว์ ประมง กลายเป็นเกษตรผสมผสาน อาทิ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงหมูหลุม โคเนื้อ เกษตรอินทรีย์ และปลูกผลไม้ มูลสัตว์ และซากวัสดุเกษตรที่เหลือใช้ยังสามารถใช้ทำปุ๋ยหมักใช้เองโดยไม่ต้องลงทุนซื้อหา

"ทั้งหมดเป็นห่วงโซ่โคจรเศรษฐกิจพอเพียง ที่ลงทุนลงแรงเพียงครั้งเดียว แต่ได้ผลคุ้มค่ามหาศาล มีสมาชิกในโรงเรียนแก้จนจำนวนกว่า 100 คน มาจากชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย ตกเกณฑ์ จปฐ.หรือมีรายได้ต่ำกว่า 2.3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันสามารถส่งขายผลผลิตได้แล้ว 5 รุ่น โดยมีนักปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้มีความรู้ความถนัดในอาชีพต่างๆ กว่า 80 คน เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย" สุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย
....
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

อังคาร 8
กรกฎา 51

ไม่มีความคิดเห็น: