บทบรรณาธิการ
เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500
แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี
เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด
หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย
ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"
ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51
วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ศาลยกฟ้องกรณีปิดโรงฆ่าสัตว์โดยมิชอบ คาดว่าจะได้สวนสาธารณะเพิ่มอีกแห่ง
โดย ลานนาโพสต์ออนไลน์
ที่มา : http://www.lampangpost.com/news/674-2.htm
คดีนิมิตรปิดโรงฆ่าสัตว์ทำสวนฯ ศาลยกฟ้อง
จากกรณีที่นายสุรจิต สามสี และพวกจำนวนสิบคนเป็นโจทย์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินอาชีพค้าขายเนื้อสุกรในโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลนครลำปาง ยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ มีเทศบาลนครลำปาง และนายนิมิตร จิวะสันติการ เป็นจำเลย ที่ทำให้ผู้ฟ้องได้รับความเสียหายไม่มีสถานที่ฆ่าสุกรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปจำหน่ายแก่ประชาชน เพราะนายนิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปางมีคำสั่งลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 ให้หยุดดำเนินการโรงฆ่าสัตว์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 และศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 13 มีนาคม 2550 กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์พิพาทและจัดให้มีการควบคุมการฆ่าสัตว์ในเขตเทศบาลนครลำปางต่อไป จากนั้นนายนิมิตรได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 11 เมษายน 2550 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ยกคำขอที่ผู้ฟ้องทั้ง 14 คนขอให้ศาลปกครองชั้นต้นทุเลาการบังคับคำสั่งของนายนิมิตร จิวะสันติการ
หลังจากนั้นศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิจารณาและพิพากษายกฟ้องเทศบาลนครลำปาง และนายนิมิตร จิวะสันติการ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยสรุปว่า นายนิมิตร จิวะสันติการ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ใช้ดุลพินิจออกประกาศหยุดดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์และงดออกใบอนุญาตฆ่าสัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยเหตุผลและเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่กระทบต่อเสรีภาพในการดำเนินอาชีพโดยสุจริตของผู้ฟ้องทั้ง 14 คน หรือเป็นการใช้มาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินความจำเป็น อันจะทำให้ผู้ฟ้องทั้ง 14 คนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 14 กล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ออกประกาศลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 เรื่องหยุดดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์และงดออกใบอนุญาตฆ่าสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ นายนิมิตร จิวะสันติการ ได้ให้การต่อศาลว่า เดิมที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชนจึงไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ปัจจุบันมีการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์อยู่ติดกับชุมชน ประกอบกับการดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลนครลำปางไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาหลายปี จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง โดยไม่อาจปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้
จึงจะเป็นต้องหยุดกิจการโรงฆ่าสัตว์เพื่อนำที่ดินดังกล่าวไปสร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนกว่า 1,000 คน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่าเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของผู้ฟ้องเพียง 14 คน การปิดโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้เป็นการทอดทิ้งผู้ฟ้องทั้ง 14 คน เพราะก่อนที่จะประกาศหยุดกิจการ 8 เดือน ได้มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและหามาตรการแก้ไขร่วมกันแล้ว ตลอดจนได้ประสานกับโรงฆ่าสัตว์เอกชนจำนวน 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ห่างจากเขตท้องที่เทศบาลฯไม่เกิน 15 กิโลเมตร และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นและเหมาะสมที่จะสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งใหม่ เพราะเทศบาลมีเนื้อที่เพียง 22.17 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น การสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งใหม่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 20 ล้านบ้าน อีกทั้งยังเป็นการซ้ำซ้อนกับโรงฆ่าสัตว์ในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นครที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งผู้ฟ้องทั้ง 14 คนสามารถไปใช้บริการได้สะดวกสบายทั้งสิ้น
.......
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST
พฤหัส 10
กรกฎา 51
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น