ป้ายบอกทางตกแต่งลายรถม้า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่มา : โปสการ์ด จาก "ร้านม้าหมุน" http://marsmoon.hi5.com

บทบรรณาธิการ


>>>on Lampang POST <<< ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่มหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารลำปางนับแต่นี้ไป


เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500

แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย

ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ลุงบุตร มิใช่คนสุดท้ายที่จากไปจากภัยแม่เมาะ




สำนักข่าวประชาธรรม: วาระสุดท้ายของลุงบุตร ชะตากรรมข้างขอบเหมือง
โดย ประชาไทออนไลน์
11 กรกฎาคม 2551
ที่มา
http://prachatai.com/05web/th/home/12814

เรื่อง: ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม
ภาพ: สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ โครงการสื่อสารแนวราบ


ชื่อของลุงบุตร หรือ ศรีบุตร วงศ์ชนะ ชายชราแห่งบ้านหัวฝาย หมู่ 1 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง คงมีน้อยคนที่จะรู้จัก

แต่หากเอ่ยถึงลุงบุตร
ในฐานะผู้หาญกล้ายื่นฟ้องต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในหลายๆ คดี
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ
ผู้เก็บสะสมยาพ่นขยายหลอดลม ที่ใช้จนหมดแล้วไว้ใต้เตียง
ผู้ขายบ้าน ขายรถ ประทังชีวิต และนำไปซื้อถังออกซิเจนสีเขียวใบใหญ่ อุปกรณ์ช่วยหายใจในยามที่อาการหอบกำเริบ สมบัติเพียงชิ้นเดียวที่มีค่ามากที่สุดในบ้าน
ฯลฯ
หรือกระทั่ง ผู้อดทนใช้ชีวิตจนช่วงสุดท้ายในวัย 81 ปี

ณ ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า “ความตายจากถ่านหิน เป็นเรื่องจริง”

คำขยายความเหล่านี้ คงพอทำให้เห็นภาพลางๆ ได้บ้างว่าเส้นทางชีวิตส่วนหนึ่งที่ลุงศรีบุตรเลือกมันเริ่มต้นแล้วจบลงตรงที่ใด

ครั้งหนึ่งในปี 2547 ลุงบุตร บอกเล่าว่า ตนเองเป็นผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจวันละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง หลังเริ่มมีอาการป่วยและเข้ารักษาในโรงพยาบาลมานานกว่า 10 ปี กระทั่งปี 2544 ลุงบุตรจึงตัดสินใจซื้อถังออกซิเจนพร้อมชุดช่วยหายใจมาใช้เป็นส่วนตัวที่บ้าน เพราะถังออกซิเจนเพียง 1 ถัง ที่ชาวชุมชนหัวฝาย ซื้อมาด้วยเงินที่ได้จากการจัดผ้าป่าสามัคคีนั้นต้องเวียนกันใช้ในชุมชน ซึ่งไม่เพียงพอกับอาการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพาถังออกซิเจน และยาพ่นขยายหลอดลมเป็นนิจสิน

ครั้งนั้นแพทย์วินิจฉัยว่า เจ็บป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง แต่ลุงบุตรยืนยันว่าตนเลิกสูบบุหรี่มากว่า 20 ปี และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจึงมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ห่างไปไม่ถึงกิโล เฉกเช่นกับบรรดาสัตว์ พืชผล และผู้คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ที่เริ่มเจ็บป่วยและถูกหามเข้าโรงพยาบาลกันบ่อยๆ

หลังจากนั้นไม่นาน เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตก็เริ่มร่อยหรอ แม้ว่าจะมีค่ารักษาพยาบาลที่ได้จากสวัสดิการของลูกชายที่เป็นพนักงานอยู่ในการไฟฟ้า แต่ค่าใช้จ่ายอื่นเช่น ค่าเดินทางไปรักษาที่เชียงใหม่ ค่าอาหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ไม่เพียงพอ จึงต้องทยอยขายทรัพย์สมบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่นา รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งเลิกกิจการขายของชำ ปั๊มน้ำมัน ขายบ้านไม้สักหลังงามเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ

อย่างไรก็ตามแม้ตนเองจะเจ็บป่วยต้องพึ่งพาเครื่องหายใจอยู่เสมอ แต่ลุงบุตร ก็ไม่ได้ย่อท้อ ลุงบุตร ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า

กฟผ.ทำการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก ทั้งที่รู้ว่าถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดฝุ่นแขวนลอยและสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์อันเป็นสารพิษจำนวนมาก ที่สำคัญ กฟผ.ยังไม่ดำเนินการควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นและสารดังกล่าวทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือว่าขาดความระมัดระวังทำให้เกิดมลภาวะในอำเภอแม่เมาะ และอำเภอใกล้เคียง ทำให้ตนซึ่งอาศัยอยู่ที่ ต.บ้านดง หายใจเอาฝุ่นแขวนลอยและสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และเกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 102 ล้านบาท
....
จวบจนวันนี้คดีดังกล่าวก็ยังไม่สิ้นสุด

ป้านวลจันทร์ ภรรยาคู่ชีวิตของลุงบุตร เล่าว่า ลุงบุตรเฝ้ารอการอพยพหนีมลพิษ และความตายจากถ่านหินมาตลอดชีวิต และเชื่อว่าจะได้ย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่รองรับภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่อพยพตามมติคณะรัฐมนตรี 9 พฤษภาคม 2547 ล่าช้าและมีปัญหาอุปสรรคมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีแม้การจากไปของของสามีอันเป็นที่รักจะทำใจให้ยอมรับได้ยากยิ่ง แต่ป้านวลจันทร์ กลับบอกว่า สิ่งที่ทำใจยอมรับได้ยากกว่าคือการต้องไปร่วมงานศพของเพื่อนบ้าน หรือลูกหลานที่ทยอยตายตามกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเข้ามาแก้ไข

แม้ว่าจากนี้ป้านวลจันทร์จะไม่ได้เห็นสามีกระแอมกระไอ กระเสือกกระสนตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อสูดหายใจจากสายยางพลาสติกสีขาวเขียวของเครื่องช่วยหายใจ บนเตียงนอนชั้นล่างอีกต่อไปแล้ว แต่ถังออกซิเจนคู่ชีวิตของลุงบุตรใบนี้ จะถูกส่งให้ใคร และต่อจากนั้นจะเป็นใครอีก นี่คือสิ่งที่ป้านวลจันทร์ไม่อยากจะเอ่ยถึง “หรือ

นี่มันคือชะตากรรมที่ชาวแม่เมาะรอบๆ โรงไฟฟ้าต้องก้มหน้ายอมรับ” ป้านวล ไถ่ถาม

ป้านวล ทิ้งท้ายว่า จากนี้ต่อไปเธอจะใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่สามีทิ้งมรดกเอาไว้ให้ นั่นก็คือ คดีความที่ยังคั่งค้างอยู่ในศาลปกครอง แม้จะล่าช้า แต่เธอก็มีชีวิตเพื่อรอความยุติธรรมที่สักวันต้องมาถึง

“เส้นทางชีวิตของลุงบุตรนั้นไม่ได้แตกต่างจากกว่า 300 ชีวิตที่ต้องจากไปก่อนเวลาอันควร หลายๆ ราย บ้างก็เป็นลมล้มตาย บ้างนอนหลับตาย ตามเนื้อตามตัวมีจ้ำมีจุดเขียว หมอมาชันสูตรก็บอกว่าแก่ตายบ้าง เป็นโรคนั้นโรคนี้บ้าง แต่ชาวบ้านเรารู้ว่าคนแถบนี้ตายเพราะสาเหตุอะไร หลังจากลุงบุตรก็ต้องมีรายต่อๆ ไป” คำบอกเล่าของ มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ องค์กรที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะ รวมตัวจัดตั้งขึ้นมาในปี 2545

มะลิวรรณ เล่าว่า หนึ่งในสิ่งที่ลุงบุตรและชาวบ้านนับ 400 ชีวิต ร่วมกันเรียกร้องในนามเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ คือ ชาวบ้านควรจะได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะจริงอยู่ที่โรงไฟฟ้าสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าต้องเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของเขาเอง เพื่อให้ค่าไฟมีราคาถูก เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินกว่าการมาตรฐานที่โครงการของรัฐพึงจะกระทำ เราเรียกร้องเฉพาะสิ่งที่เขาละเลยที่จะกระทำ

“เดิมเราเรียกร้องให้เขาอพยพชาวบ้านหนีมลพิษแต่เขาก็ไม่ยอม เราเรียกร้องให้มีแพทย์เฉพาะทางมาดูแล ไม่ใช่ไปโรงพยาบาลเอายาพารามากิน แล้วกลับมาตายที่บ้านอย่างที่เป็นอยู่ มันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พอเขาไม่ทำสิ่งที่ควรต้องทำ เราก็ฟ้องศาลปกครองให้เขายุติการดำเนินการโรงไฟฟ้า ชาวบ้านก็ถูกหาว่าขัดขวางการพัฒนาของประเทศ ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคิดกันแบบนี้จะเรียกพวกเราว่าเป็นตัวขัดขวางก็ได้ เรายอมรับเพราะไฟฟ้าที่คุณกำลังใช้กันอยู่มันไม่ได้ผลิตจากถ่านหินสกปรกที่ไร้การจัดการที่ดีอย่างเดียว และมันรวมชีวิตมนุษย์ที่ต้องสังเวยเป็นเชื้อเพลิงด้วย

ทั้งหมดในงานเขียนชิ้นนี้ มันเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า การตายของลุงบุตร ชาวบ้านธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้จะไม่พิเศษ หรือช่วยสั่นสะเทือนให้สังคมหันมาสนใจชะตากรรมที่คนทั้งชุมชนแม่เมาะกำลังแบกรับ แต่มันก็เพียงพอแล้วที่จะยืนยันว่า ลุงบุตร และชาวบ้านอีกหลายร้อยคนไม่ได้จบชีวิตเพราะหัวใจหยุดเต้น ทว่ามันคือความพิกลพิการของระบบสังคมที่ทำให้มองไม่เห็นความทุกข์ยากที่เพื่อนร่วมประเทศกำลังแบบรับ บนคำนิยามของรัฐที่เรียกกันว่า “ผู้เสียสละจากการพัฒนา”

*** ข้อมูลการศึกษาวิจัยของ The Union of Concerned Scientist องค์กรวิทยาศาสตร์ที่ไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลกที่ปลอดภัย พบว่าการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าได้นำไปสู่การเกิดควัน ฝนกรด สภาวะโลกร้อน และอากาศเป็นพา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินหนึ่งโรงจะก่อให้เกิด
- คาร์บอนไดออกไซค์ (Co2) จำนวน 3,700,000 ตัน อันเป็นสาเหตุเบื้องต้นของสภาวะโลกร้อน จำนวนคาร์บอนไดออกไซค์ที่ถูกปล่อยออกมานี้ เท่ากับการตัดต้อนไม้ถึง 161 ล้านตัน
- ซัลเฟอร์ไดออกไซค์ (So2) จำนวน 10,000 ตัน ทำให้เกิดสภาวะฝนกรด ซึ่งจะทำลายป่าไม้ ทะเลสาบ บ้านเรือนและอาคารต่างๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดฝุ่นผงรูปแบบต่างๆ ที่สามารถทะลุผ่านเข้าไปสู่ปอดของคนเราได้
- ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายทางอากาศจำนวน 500 ตัน ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคหืดที่เลวร้ายขึ้น และความตายก่อนเวลา รวมถึงหมอกที่ปกคลุมทัศนวิสัย- ไนโตรเจนออกไซค์ (Nox) จำนวน 10,200 ตัน ซึ่งจะเท่ากับจำนวนฝั่นจากรถยนต์รุ่นเก่าถึงครึ่งล้านคัน ไนโตรเจนออกไวค์จะนำไปสู่โอโซนที่สามารถเผาเนื้อเยื่อของปอด และนำไปสู่ความบกพร่องของระบบทางเดินหายใจ
- คาร์บอนมอนมอกไซค์ (Co) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัว และความตึงเครียดที่มากยิ่งขึ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ- ไฮโดรคาร์บอน จำนวน 220 ตัน และทำให้เกิดค่าความเข้มข้นสารระเหยอินทรีย์- สารปรอทจำนวน 170 ปอนด์ ซึ่งปรอทเพียง 1/70 ช้อนชา ที่สพะสมในทะเลสาบขนาด 25 เอเคอร์ สามารถทำให้ปลาในทะเลสาบดังกล่าวไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาบริโภค
- สารหนู (สารก่อมะเร็ง) จำนวน 225 ปอนด์ ประชากร 1 คนในทุกๆ 100 คน ที่ได้ดื่มน้ำซึ่งปนเปื้อนสารหนูเพียง 50/1,000 พันล้านส่วนจะมีโอกาสเป็นมะเร็ง
- สารตะกั่ว จำนวน 114 ปอนด์
- แคดเมี่ยม จำนวน 4 ปอนด์ และสารโลหะหนักเป็นพิษอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังตรวจพบสารยูเรเนียมอีกจำนวนหนึ่งด้วย
*** อ้างจาก ถ่านหิน : พลังงานสะอาด (คำถามและบทเรียนจากกรณีแม่เมาะ)
...
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST

เสาร์ 12
กรกฎา 51

ไม่มีความคิดเห็น: