บทบรรณาธิการ
เรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่กันเท่าใดนัก ก็คือระบบฐานข้อมูล การจัดทำระบบหอจดหมายเหตุ โดยเฉพาะลำปางเอง ข้อที่น่าตกใจคือว่า ลำปางเคยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2492 คือ ไทยลานนา และ เอกราช ในปีพ.ศ.2500
แต่ลำปาง ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (ยังไม่ต้องนับถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่ขาดการจัดเก็บเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังค้นคว้า ศึกษา) เราจึงไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เพื่อค้น "ประวัติศาสตร์" และ "เรื่องราวลำปาง" แม้ในระยะสั้นๆ เพียง 50 -60 ปี
เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่อง "น้ำท่วมใหญ่ลำปาง 2548" ที่สร้างความพินาศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำจางๆ เช่นเดียวกับที่เหตุภัยพิบัติทั้งหลายที่เกิดกับลำปางแต่มิได้รับการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ตลาด น้ำท่วม คนประสบภาวะหิวโหย...ทั้งหลายทั้งปวงจะไม่สามารถสืบค้นทางประวัติเอกสารได้แน่ชัด...และถูกหลงลืมไปในที่สุด
หากไม่มองโลกในแง่ร้ายนัก ในโลกคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต อันเป็นโอกาสอันกว้างขวางที่สามารถย่นเวลา และระยะทางการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล วันนี้ขณะที่ seacrh หาข้อมูลข่าวทำให้ได้พบกับเว็บไซต์หนึ่งนามว่า http://www.lampang2u.com/ เว็บนี้มีความพยายามอย่างยิ่งในการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลร้านค้าลำปาง และข่าวท้องถิ่นลำปางได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ ยังคับแคบเกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างขวางในโลกไซเบอร์ พื้นที่ตรงนี้ จึงอาสาที่จะออกมาเพื่อรองรับกับ ข้อมูล ข่าวสาร และสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำปาง ในปัจจุบันสมัย เท่าที่จะมีกำลังจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มองลู่ทางของเครือข่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูลของลำปางไปด้วย
ขณะที่ on Lampang : เปิดโลกลำปาง ก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งในการรวบรวมฐานข้อมูล และข่าวสารทางศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของลำปาง ซึ่งคนละบทบาทกับที่แห่งนี้ จึงถือว่า บทนำนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่ง ที่ออกก้าวเพื่อวันข้างหน้า ดังที่ เอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดีชื่อดัง เคยบอกไว้ว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า"
ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ on Lampang POST
ศุกร์ 2
พฤษภา 51
วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
เวิร์คช็อปพี่น้องคนเมือง เย้า มูเซอแถบเมืองปาน แจ้ห่ม เพิ่มศักยภาพ
โดย สำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่
ที่มา : http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=080702105012
2 กรกฎาคม 2551 / 16:38:26
นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง กล่าวในการเป็นประธานเปิด อบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อการพึ่งพนเอง ที่ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 51 จ.ลำปาง ว่า ในพื้นที่อำเภอเมืองปานและแจ้ห่ม มีกลุ่มชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในชุมชนพื้นที่สูง เช่น เผ่าเย้า เผ่ามูเซอ และชาวไทยพื้นเมืองจำนวนมาก
และพื้นที่ส่วนใหญ่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือเชิงอนุรักษ์ ประกอบกับนโยบายของจังหวัดลำปางส่งเสริมและผลักดันให้เกิดหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริมจากขายสินค้าชุมชน และจัดทำอาหารตลอดจนจัดที่พักเป็นโฮมสเตย์ รวมถึงเป็นมัคคุเทศน์ท้องถิ่น
ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้เป็นการจัดการของชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จัดเป็นระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมของท้องถิ่น ยังเป็นลักษณะแบบส่วนบุคคล ทำให้ชุมชนไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ควรพึงมีพึงได้
จึงได้จัดอบรมแกนนำชุมชนบนพื้นที่สูงในอำเภอเมืองปานและแจ้ห่ม จำนวน 40 คน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงนำไปศึกษาดูงานในชุมชนต้นแบบที่บ้านสามขา อ.แม่ทะ เพื่อนำแบบอย่างมาปรับใช้ในพื้นที่รวมถึงมีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดการของชุมชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ข่าวโดย : สวท.ลำปาง
หน่วยงาน : สวท.ลำปาง
....
ผู้สื่อข่าว
on Lampang POST
อังคาร 8
กรกฎา 51
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น